|
|
อดีตกาลผ่านมาประมาณ 90 ปี มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อ พระคง ปทุมสโร เป็นชาวบ้านสามบ่อ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นนักเทศ เทศนามหาชาติชาดกได้อย่างคล่องแคล่วขึ้นชื่อลือชา เป็นที่ติดอกติดใจของผู้ได้ยินได้ฟังเป็นจำนวนมาก จนชาวบ้านไกรไทย อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้นิมนต์ท่านมาเทศนามหาชาติชาดก ปรากฏว่าเป็นที่ติดอกติดใจของประชาชนจำนวนมาก จนมีข่าวล่ำลือกันทั่วไปทั้งในเขตอำเภอเชียรใหญ่ และอำเภอหัวไทร จนถึงกับชาวบ้านจากอำเภอหัวไทรได้นิมนต์ให้ท่านมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดหัวลำภู อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช กาลต่อมาท่านเห็นว่าวัดหัวลำภูมีเจ้าอาวาสแล้ว ประชาชนในแถบนั้นมีวัดเป็นที่บำเพ็ญบุญกันแล้ว แต่ประชาชนชาวบ้านทะเลปัง บ้านแพรกเมืองและแม้แต่คนที่อยู่แถว ๆ ตลาดหัวไทรในสมัยนั้น ยังไม่มีวัดเป็นที่บำเพ็ญบุญเพราะสมัยนั้นวัดหัวไทร วัดฉิมหลาและวัดสว่างอารมณ์ คือ ทั้งทิศเหนือ ทิศใต้ ตะวันออก และตะวันตก ยังไม่มีวัดเลย ประชาชนจึงหาวัดทำบุญยาก ท่านเห็นว่าบ้านทะเลปังอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านต่าง ๆ ดังกล่าว ท่านจึงได้จัดการแสวงหาพระภิกษุมาตั้งลงที่บ้านทะเลปัง (คือที่ตั้งวัดปัจจุบัน) โดยการปริวาส 1 พรรษา เมื่อออกปริวาสและออกพรรษาแล้ว ท่านได้รับการนิมนต์จากอุบาสกอุบาสิกาให้ไปจำพรรษา ณ วัดหัวค่าย ส่วนสำนักสงฆ์ทะเลปัง มอบให้พระเส้ง พระพร้อมเป็นผู้จัดการแทน จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ท่านจึงหวนกลับมาจัดการช่วยกันสร้างวัดทะเลปังต่อไป และให้ชื่อว่า และให้ชื่อว่า วัดวาสทะเลปัง เพราะเคยมาอยู่ปริวาสในที่นั้นก่อน จึงเอาคำว่า วาส มานำหน้า ทะเลปัง จึงเป็น วัดวาสทะเลปัง ชื่อนั้นกาลต่อมาก็ถูกตัดออก ยังเหลืออยู่เพียง วัดทะเลปัง จึงเป็นกระทั่งทุกวันนี้ และท่านอธิการคง ปทุมสโร เป็นเจ้าอาวาสรูปเดียว และรูปสุดท้ายของวัดทะเลปัง ตั้งแต่ตั้งวัดจนกระทั่งทุกวันนี้ ปัจจุบันที่ท่านพระครูประเสริฐ ปิยสีโล รักษาการตำแหน่งอยู่ถึงทุกวันนี้ |
|
|
|
|
|
|
วัดศาลาแก้วเป็นวัดที่สร้างในสมัยโบราณ เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช จากการสืบค้นกับกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ทำให้ทราบว่า สร้างในสมัยกรุงศรีอยุทธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๙ สมัยพระเจ้าบรมโกษฐ เป็นพระมหากษัตริย์ และได้รับวิสุงคาสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๕ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือรัชการที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี เป็นชื่อวัดศาลาแก้วโดยสมบูรณ์ โบราณสถานและโบราณวัตถุที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดียืนยันถึงความเก่าแก่มากที่สุด ปรากฏให้เห็นมากกระทั่งปัจจุบัน คือศาลาการเปรียญ หรือวิหารกุฎิแฝด เรือนางยวน มหาโพธิใหญ่ วัดศาลาแก้วเคยเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองและมีชื่อเสียงมาก่อนในอดีต และมีพระเกจิ อาจารย์ เป็นที่เคารพนับถือของชาวพุทธชุมชนบ้านศาลาแก้ว เคยเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองและมีชื่อเสียงมาก่อนในอดีต และมีพระเกจิอาจารย์ เป็นที่เคารพนับถือของชาวพุทธชุมชนบ้านศาลาแก้ว และภาคใต้ หรือในเมืองหลวง ที่ควรกล่าวถึง 2 รูป คือ ท่านพระครูพนังศีลวิสุทธิ์พุทธภักดี (พ.ศ. ๒๔๐๐ ๒๔๗๔) ท่านพระครูสุเมตสิทธิคุณ (พ.ศ. ๒๔๓๗ ๒๕๑๕)
ที่มา วัดศาลาแก้วตั้งอยู่ใจกลางชุมชนบ้านศาลาแก้ว และชุมชนละแวกใกล้เคียงในสมัยนั้น มีคลองหัวไทร ปากพนังไหลผ่าน เป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำปากพนังในสมัยโบราณ ความเจริญทางอารยธรรม วัฒนธรรม ประเพณี วิชาความรู้ ศิลปะวิทยาการต่าง ๆ อยู่แถบลุ่มแม่น้ำและหัวเมืองชายฝั่งทะเลแทบทั้งสิ้น มีการติกต่อค้าขายแลกเปลี่ยนต่างชุมชน ต่างเมือง ต่างประเทศ ก็ยังมี ซึ่งจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่า ผู้อาวุโสว่า มีเรือสำเภาจีนกางใบเข้ามาค้าขายนำเอาเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์หลากสี ของกินของใช้มาแลกเปลี่ยนกันอยู่เสมอในสมัยนั้น ซึ่งก็พอสันนิฐานได้ว่า ชุมชนบ้านศาลาแก้วเป็นชุมชนใหญ่ที่เจริญมาก่อนแล้วในสมัยโบราณ และเป็นชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทรัพย์สินส่วนหนึ่งก็เหลือใช้ บรรพบุรุษที่มีจิตใจสูงส่งศรัทธาในพระพุทธศาสนามีการจัดตั้งวัดเกิดขึ้น ซึ่งถือว่าบรรพบุรุษเหล่านั้นมีความคิดที่ประเสริฐ สร้างสรรค์ มองการณ์ไกลหรือมีวิสัยทัศน์ เป็นผู้เจริญ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมโดยแท้จริง เราลูกหลานชาวชุมชนบ้านศาลาแก้วโดยกำเนิด หรือไปอยู่ต่างถิ่นขอเคารพในภูมิปัญญาอันล้ำเลิศและสำนึกในคุณความดีแก่บรรพบุรุษ ที่ได้จัดสร้างวัดเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นดินแดน สว่าง สงบ แห่งจิตใจ เกิดขึ้นในชุมชนจนถึงปัจจุบันนี้ และจะสืบสานปณิธานต่อไปตามกำลังศรัทธาและช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เจริญ ยั่งยืน ตลอดไป |
|
|
|
|
|
|
|
ประวัติโดยย่อ พระครูพนังศีลวิสุทธิ์พุทธภักดี (พ.ศ.๒๔๐๑ ๒๔๗๐) |
ท่านเป็นผู้มีบุญมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา มารดาฝันว่า มีคนถือร่มขาวมาส่งให้ เมื่อมารดารับร่มไว้แล้ว บุคคลนั้นก็หายไป ความฝันนี้ถือเป็นบุพนิมิตอันดีและเป็นมงคลแก่ตัวท่าน บิดา มารดา พระศาสนาและสังคมในเวลาต่อมา
พ.ศ. ๒๔๑๗ ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดศาลาแก้ว สี่พรรษาต่อมา (พ.ศ. ๒๔๒๑) ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดศาลาแก้ว
ท่านเป็นผู้ที่เรียนหนังสือเก่ง มีความจำ สติปัญญาที่เป็นเลิศ อาจารย์ของท่าน คือท่านอาจารย์บุญทอง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดศาลาแก้วก่อนพระครูพนังฯ
ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดศาลาแก้วตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๘ ๒๔๗๐
พ.ศ. ๒๔๓๓ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌายะและเป็นพระภิกษุรูปแรกที่ได้วางรากฐานการเรียนการสอนหนังสือไทย (การศึกษาสมัยใหม่) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ไว้ให้คู่ชุมชน กำเนิดโรงเรียนวัดศาลาแก้ว มีอายุมาจนถึงปัจจุบันนี้ รวมอายุได้ ๑๑๓ ปี
ในช่วง พ.ศ. ๒๔๓๓ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูพนังศีลวิสุทธิ์พุทธภักดี
ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแขวงในสมัยนั้น (เจ้าคณะอำเภอในปัจจุบัน)
ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการจัดการศึกษาของอำเภอหัวไทรในขณะนั้น ท่านได้ทุ่มเทอุทิศเวลาให้กับการศึกษาแผนใหม่ ควบคู่กับการเผยแพร่พระศาสนาเท่าๆ กัน เป็นเวลานานถึง ๓๗ปี (ในระยะเริ่มต้นของการจัดการศึกษาสมัยใหม่ พระภิกษุสงฆ์มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำชุมชนหรือสังคม)
ท่านเป็นบูรพาจารย์ที่คู่ควรการกราบไหว้ของผู้คนทั้งอำเภอหัวไทร
วัดศาลาแก้วในสมัยท่านมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดสมัยหนึ่ง
ท่านเป็นเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในทางศักดิ์สิทธิไปทั่วภาคใต้ในยุคนั้น อาทิเช่น
- หนังตะลุง โนราห์ ที่เดินทางผ่านหน้าวัดจะต้องประโคมเครื่องดนตรีเพื่อถวายความเคารพ มิเช่นนั้นจะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้
- เด็กวัดในสมัยนั้นไม่กลัวจระเข้ เพราะท่านบอกว่าให้ลงเล่นน้ำได้แสดงว่าจระเข้ไม่มารบกวนและไม่ทำอันตราย และจระเข้ทุกตัวที่ว่ายน้ำผ่านหน้าวัดจะต้องลอยตัวขึ้นมาให้เห็น เป็นการแสดงความเคารพท่านพระครูพนังฯ ทุกครั้ง
- เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ที่ จังหวันครปฐม เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖ มีเด็กบ้านศาลาแก้วคนหนึ่งอยู่ที่โรงงานแห่งนี้ มีเหรียญท่านพระครูพนังฯ ห้อยคออยู่ ปรากฏว่าเด็กคนนี้ไม่ได้รับอันตรายใด ๆเลย
- เป็นเวลา ๗๖ ปี ล่วงมาแล้ว ชื่อเสียงคุณงามความดีของท่าน ยังอยู่ในความทรงจำของผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าขานสืบมา. |
|
|
|
|
|
|
|
สำหรับประวัติความเป็นมาของวัดหัวลำภูนั้น ไม่มีหลักฐานบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ได้ฟังจากคำบอกเล่าของคุณตาเปลี่ยน มาชาตรี ซึ่งเป็นกรรมการวัดในสมัยก่อนว่า เท่าที่พอจะได้ฟังมา วัดหัวลำภูก่อตั้งมาประมาณ ๒๐๐ ปี โดยมีเจ้าอาวาสผลัดเปลี่ยนกันมา มากมาย ตั้งแต่ หลวงพ่อสุข หลวงพ่อพวย หลวงพ่อวัด หลวงพ่อวัน หลวงพ่อเจียม หลวงพ่อฉลอง หลวงพ่อคล้าว และปัจจุบันหลวงพ่อพล หรือพระอธิการโสภณ ปิยธฺมโม เจ้าอาวาสวัดหัวลำภูองค์ปัจจุบัน |
|
ตำนานที่ตั้งโบสถ์ของวัดหัวลำภู |
|
เล่ากันว่าสมัยนั้น บริเวณรอบๆ วัด จะเป็นป่าจาก ซึ่งชาวบ้านแถบนั้นมักจะได้ยินเหมือนเสียงดนตรีดังมาจากป่าจาก ดังกล่าว ในตอนกลางคืน พอนานเข้าชาวบ้านก็ชวนกันเข้าไปสำรวจดู พบว่ามีเศียรพระโผล่มาจากพื้นดิน (เฉพาะส่วนของเศียรพระเท่านั้น) เจ้าอาวาสสมัยนั้นจึงกำหนดจุดนั้นเป็นที่ตั้งโบสถ์ จนมาถึงปัจจุบัน |
|
|
|
|
|
|
|
จากคำบอกเล่าของครูสวัสดิ์ แสงสุวรรณ วัดอมรนุยุตต์ หรือวัดอิมอญ ก่อตั้งมาประมาณ ๗๐ ปี โดยมีผู้อุทิศที่ดินและสร้างวัด ชื่อ นางตา บัวแก้ว โดยได้รับอนุญาตให้สร้างวัดขึ้นในหมู่ที่ ๗ (ปัจจุบัน หมู่ที่ ๑๒) ตำบลหัวไทร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยกระทรวงศึกษาธิการประกาศจัดตั้งขึ้นเป็นวัดในพุทธศาสนา มีนามว่า วัดอมรานุยุตต์ ณ วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๑๓ เป็นต้นมา โดยมีเจ้าอาวาสองค์แรกคือ พ่อท่านเกลี้ยง และต่อมา พ่อท่านคง พ่อท่านย้อย พ่อท่านคล้อย และปัจจุบันมีพระจากจังหวัดสิงห์บุรี มารักษาการเจ้าอาวาสอยู่ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านพอสมควร ปัจจุบันวัดอิมอญก็ได้รับการบูรณะไปจากเดิม มากพอสมควร ทั้งสิ่งปลูกสร้าง และความศรัทธาของชาวบ้านในพื้นที่ และตำบลใกล้เคียง |
|
|
|
|
|
|
|
วัดออก หรือวัดศาลาแก้วออก เป็นวัดที่ตั้งขึ้นมาในสมัยโบราณ เวลาที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าเรื่องที่วัดออกให้ฟัง มักกล่าวถึงวัดตก หรือวัดศาลาแก้วตกควบคู่กันไปด้วยเสมอ สันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นวัดทีเกิดร่วมสมัยเดียวกัน หรือต่างสมัยที่ต่อเนื่องกันก็ได้ เสมือนกับวัดพี่หรือวัดน้อง ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นอดีตแห่งความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในชุมชนบ้านศาลาแก้วและชุมชนละแวกใกล้เคียงได้ประการหนึ่ง
ภูมิทัศน์วัดออกสมัยก่อน รายรอบไปด้วยต้นตาลสูงๆ ต่ำ ๆ หลายต้น และดงย่านมันแดง ทำให้นึกถึงย้อนไปสมัยสุโขทัย ที่พ่อขุนรามคำแหงทรงออกนั่งพระแท่นมนังคศิลาอาสน์ท่ามกลางดงตาล ให้ประชาชนของพระองค์ได้เข้าเฝ้า ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ทรงปกครองแบบพ่อปกครองลูก ช่างเป็นความสุขใจที่น่าอภิรมย์ยิ่งนัก เช่นเดียวกับพ่อท่านวัดออกที่ประดิษฐานอยู่ท่ามกลางดงตาลเช่นนั้นเหมือนกัน
พ่อท่านวัดออกเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิมาแต่สมัยโบราณ อาจเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่มาก อาจเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่มากที่สุดองค์หนึ่งของอำเภอหัวไทร (ตามทะเบียนประวัติวัดร้างของอำเภอหัวไทร)ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เป็นศูนย์รวมความศรัทธาเลื่อมใสของชาวบ้านและพุทธศาสนิกชนทั่วไปมาช้านาน ทราบต่อมาภายหลังจากกรมศิลปากรว่า เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย และต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ พ่อท่านหนูแก้ว (พระครูสุเมธสิทธิคุณ) ได้ให้นายศิลป คงทน ซึ่งเป็นช่างบูรณะขึ้นมาใหม่เป็นพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยพระพักตร์อิ่มเอิบ อ่อนช้อย งดงาม ปรากฏมาจนปัจจุบัน
ประเพณีสมโภชขวัญข้าว จัดขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี เป็นประเพณีโบราณที่เป็นศิริมงคล ในอดีตมีชาวบ้านมาร่วมพิธีอุ่นหนาฝาคั่งมาก มีการทำขนมโคน้ำผึ่งแว่น มีการชนวัวชนควาย ด้วย จากการค้นคว้าทำให้ทราบว่า เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลที่ชาวบ้านได้ร่วมสืบสานต่อเนื่องมา เป็นที่น่าภาคภูมิใจยิ่ง
สระน้ำโบราณ ในสมัยโบราณมี 2 สระคือสระหัวนอน(ใต้) กับสระตีน(เหนือ) บริเวณขอบสระมีต้นไทรใหญ่ห้อยระย้าหลายต้น มีเรื่องเล่าที่สระหัวนอนว่าเป็นที่ตั้งของหอไตรเก็บคัมภีร์พระไตรปิฎก และมีผู้เฒ่าผู้แก่สมัยรุ่นทวดได้เห็นไหแมลงภู่อยู่บนขอบสระพอจะเข้าไปใกล้ไหก็กลิ้งลงสระน้ำดังตูม ทุกครั้งไป เป็นที่น่าอัศจรรย์ น้ำที่สระหัวนอนใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และงานมงคลในสมัยโบราณ
ต้นโพธิ์เก่าแก่ เป็นต้นโพธิ์ที่ศักดิ์สิทธิมาแต่โบราณ ชาวบ้านเรียกว่าต้นโพธิ์พ่อท่านวัดออก ต้นยังอยู่เท่าเดิมตั้งแต่สมัยอดีตมา นั่นก็เป็นสิ่งที่แปลก มหัศจรรย์ ทำให้คิดถึงว่าพระศาสนาจะเจริญมั่นคง ในชุมชนศาลาแก้วและละแวกใกล้เคียงไปตราบนานเท่านาน |
|
|
|